หน้าหลัก |      ข่าวกิจกรรม |      ผู้บังคับบัญชา |     ประวัติกองบิน |      จัดซื้อจัดจ้าง |      ติดต่อเรา |
  > เกี่ยวกับกองบิน 23

ประวัติกองบิน

         เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ได้มีเหตุการณ์ตึงเครียดของประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา ซึ่งมีแนวโน้มจะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศไทย

      ฉะนั้น ประเทศไทยในฐานะสมาชิกสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.)จึงได้ขอให้ประเทศสมาชิกส่งกำลังทางอากาศมายังประเทศไทย และให้ไปประจำที่สนามบินจังหวัดอุดรธานี  เพื่อช่วยเหลือในเหตุการณ์ที่จำเป็น และเพื่อเป็นการประสานงานทางกองทัพอากาศ จึงได้ส่งหน่วยบินขนาดเล็กมาประจำที่จังหวัดอุดรธานี โดยจัดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เป็นกองบินผสมที่ ๒ ซึ่งตั้งอยู่กองบิน ๒ และให้ฝูงบินผสมอิสระที่ ๒๒ ไปประจำที่สนามบินอุบล ฝูงบินผสมอิสระที่ ๒๓ ไปประจำการที่สนามบินอุดร ตามคำสั่ง ยก.ที่ ๒/๐๕ เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีแล้ว ประเทศชาติภาคีก็ถอนกำลังกลับทั้งหมด แต่ทางกองทัพอากาศเห็นว่าที่จังหวัดอุดร เหมาะที่จะเป็นหน่วยตั้งกำลังทางอากาศ ประกอบกับมีภารกิจต่อต้านภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ทางกำลังทหาร ซึ่งมีทีท่าว่าจะลุกลามต่อจากประเทศลาวเข้ามายังประเทศไทย

 

      กองทัพอากาศ จึงได้แปรสภาพจากฝูงบินผสมอิสระที่ ๒๓ เป็นอัตรากองบินผสมที่ ๒ (เพื่อพลาง) ตามคำสั่ง ทอ.(เฉพาะ) ลับที่ ๑๓/๐๕
ลง ๔ มิ.ย.๐๕ จากคำสั่งดังกล่าวจึงทำให้หน่วยบินผสมอิสระที่ ๒๓ แปรสภาพเป็นฐานบิน

 

      ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ สงครามเวียดนามอุบัติขึ้น สหรัฐอเมริกา ได้ขออนุมัติรัฐบาลไทย ใช้สนามบินจังหวัดอุดรธานี เป็นที่ตั้งกำลังทางอากาศของตน กองทัพอากาศ จึงจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มเติมทั้งกำลังพล อาวุธยุทธโธปกรณ์และหน่วยงานต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถประสานกับ ทอ.อม.ได้เต็มที่

 

      ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ สงครามเวียดนามยุติลง ทอ.อม. ได้ถอนกำลังทางอากาศของตน จากอุดรกลับทั้งหมด ถึงแม้นเหตุการณ์ในเวียดนามจะยุติแต่เหตุการณ์ของผู้ก่อการร้ายในประเทศกำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกที ทั้งประเทศเพื่อนบ้านได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ในทางตรงกันข้ามกับระบบการปกครองของประเทศไทย ทางรัฐบาลไทยเห็นว่า ที่ฐานบินจังหวัดอุดร จะต้องมีกำลังทางอากาศที่ถาวร มีกำลังเพียงพอที่จะสามารถปฏิบัติการได้ ทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉิน จึงได้อนุมัติให้กองทัพอากาศ แปรสภาพจากฐานบินเป็น กองบิน ๒๓ ตามคำสั่ง ทอ.(เฉพาะ) ลับที่ ๑๕๑/๒๐ ลง ๒๖ ก.ย.๒๐ ทั้งนี้ตั้งแต่ ๑ ต.ค.๒๐ เป็นต้นไป

 

ภารกิจ กองบิน ๒๓

           มีหน้าที่ เตรียมการและปฏิบัติการใช้กำลังตามอำนาจหน้าที่ ของกองทัพอากาศ มี ผู้บังคับการกองบิน ๒๓ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

 

พันธกิจ กองบิน ๒๓

           ๑.  เตรียมและดำรงขีดความสามารถของกำลังรบให้มีความพร้อมรบ 

           ๒.  ดำเนินการฝึกกำลังรบให้มีขีดความสามารถในการรบ และส่งเสริมให้มีคุณธรรมจริยธรรม

           ๓.  ส่งเสริมพัฒนาประเทศ และสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยดำรงความพร้อมของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ

 

วิสัยทัศน์ กองบิน ๒๓

            กองบิน ๒๓ เป็นฐานบินที่มีความพร้อมปฏิบัติการ ด้วยการสนธิขีดความสามารถกำลังรบ ในการครอบครองและกำลังพลในส่วนต่างๆ ให้สามารถเผชิญกับภัยคุกคามทุกรูปแบบและช่วยเหลือการพัฒนาประเทศ(Combat/Non-Combat ) พร้อมกับประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบสารสนเทศเพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพ ตลอดจนนำมาใช้พัฒนาเสริมสร้างกำลังรบควบคู่กับการส่งเสริมให้บุคลากรมีคุณธรรม และจริยธรรม

 

ประวัติพระพุทธนภาดุลยศาสดา  อากาศนาวามงคล

          นาวาอากาศเอก ธเรศ  ปุณศรี ผู้บังคับการกองบิน ๒๓  ได้มีความคิดที่จะสร้างพระพุทธรูปประธานประจำหอพระกองบิน ๒๓ ขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นที่สัก การะบูชาของข้าราชการกองบิน ๒๓ และครอบครัว ขึงได้ปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องและเริ่มดำเนินการเมื่อวันพุธที ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๒ ต่อมาวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๓ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก  ได้เสด็จมาปฏิบัติภารกิจที่ จังหวัดอุดรธานีและทรงแวะพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ กองบิน ๒๓ นาวาอากาศเอก ธเรศ  ปุณศรี ผู้บังคับการกองบิน ๒๓ จึงได้นำความข้นกราบทูลให้ทรงทราบ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ ทรงประธานพระเมตตารับเป็นองค์อุปถัมภ์ในการสร้างพระพุทธรูปดังกล่าว  โดยประทานพระนามย่อ ญศส. เพื่อจารึกไว้ ณ ชายผ้าหิตย์ของพระพุทธรูป พร้อมกับประทานชื่อพระพุทธรูปว่า “พระพุทธนภาดุลยศาสดาอากาศนาวามงคล”

 
                                                 
ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กองบังคับการ กองบิน 23
wing23.rtaf.mi.th :: Copyright © 2016 All right Reserved.